'' ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตชีวิตคนทำงาน ''
แค่ได้ยินชื่อนี้ก็ปวดหลังขึ้นมาทันที... โรคนี้นับว่าเป็นโรคที่ทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ ซึ่งนับวันจะมีผู้ป่วยในโรคนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยพฤติกรรมการนั่งทำงานที่ผิดท่า ไม่มีการลุกเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกาย กลับกลายเป็นการนั่งจ้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
ในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคยอดฮิตชนิดนี้ ทั้งสาเหตุอาการ พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด เกิดจากการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน โดยจะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ จนถึงปวดเมื่อยตามอวัยวะส่วนอื่น ๆ แม้กระทั่งบริเวณข้อมือ มักเกิดขึ้นกลับกลุ่มวัยทำงานเป็นส่วนมาก เพราะนั่งทำงานในออฟฟิศเป็นเวลานาน หรือทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นประจำ ไม่มีการขยับตัวปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการนั่ง หรือไม่มีการลุกขึ้นเดิน ซึ่งเป็นผลทำให้กล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ เกิดอาการยึดเกร็งและอักเสบในเวลาต่อมา จึงเป็นสาเหตุหลักของ '' โรคออฟฟิศซินโดรม ''
อาการที่พบได้บ่อย
- ปวดกล้ามเนื้อ เป็นอาการปวดที่ระบุไม่ได้ว่าปวดบริเวณไหน มักปวดแบบกว้าง ๆ บริเวณ คอ บ่า ไหล่
- ปวดหลัง เป็นอาการปวดหลังที่เกิดจากท่านั่งไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอจนถึงหลังเมื่อยล้าและยึดเกร็ง
- ปวดศีรษะ มักเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณบ่าตึง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงส่วนหัวได้สะดวก หรือในบางครั้งมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียดและใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน
- ปวดตา เกิดจากการจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานานตาบางครั้งมีอาการตาล้าพร่ามัว และตาแห้งร่วมด้วย
- ปวดตึงขา เหน็บชา สาเหตุมาจากการนั่งในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน จนทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับ จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดมีความผิดปกติ
- นิ้วล็อค ปวดข้อมือ เกิดจากการจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นอักเสบ
มีด้วยกันหลากหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยยา ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย รวมถึงวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การรักษาด้วยการฝังเข็ม หรือนวดแผนไทย
แต่วิธีการรักษาที่ถูกวิธี ที่ตรงกับสาเหตุคือ การปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน ท่าทางในการนั่งทำงาน และพฤติกรรมการทำงานให้ถูกต้องตามอิริยาบถ ไม่เพ่งจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป รวมถึงควรออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานได้
แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน นอกจากการรักษาโรคโดยทั่วไป จะเห็นว่ามีตัวช่วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมมากมายหลายแบบ มีให้เลือกใช้งานได้อย่างตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ-เก้าอี้เพื่อสุขภาพ / เบาะรองนั่ง-รองหลัง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้น พร้อมผ่อนคลายกล้ามเนื้อไปในตัว